โรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง

คลินิกกิจกรรมบำบัด

บทบาทการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีด้านกิจกรรมบำบัด

Occupational Therapy


          งานกิจกรรมบำบัด เป็นวิชาชีพหนึ่งในกลุ่มวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพที่ดูแลเกี่ยวกับสุขภาพของมนุษย์ ทุกกลุ่มอายุ ทั้งวัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ให้บริการผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว เด็กสมองพิการ (Cerebral palsy) พัฒนาการล่าช้า (Delayed Development) มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (Learning Disabilities) เด็กออทิสติก (Autism spectrum disorder) เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกระดูกและข้อต่อ ผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการรับรู้และความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มศักยภาพและใกล้เคียงปกติมากที่สุด สามารถกลับไปดำรงชีวิตร่วมกับครอบครัวและสังคมได้ โดยนักกิจกรรมบำบัดมุ่งเน้นการพัฒนาหน่วยงานสู่ความเป็นเลิศ ด้านวิชาการควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพงานบริการอย่างต่อเนื่อง

          งานกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลเวชชารักษ์ลำปาง ให้บริการส่งเสริม ป้องกัน บำบัด และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตลอดจนให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการ ญาติ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้รับบริการสามารถดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพ โดยนำกิจกรรม วิธีการ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาเป็นวิธีบำบัด โดยครอบคลุมเขตพื้นที่ให้บริการ 17 จังหวัดภาคเหนือ งานบริการทางกิจกรรมบำบัด มีดังนี้


          ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการเคลื่อนไหวและฝึกทักษะการใช้แขนและมือ ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยในการฝึกการทำงานของแขน มือและนิ้วมือ พร้อมระบบตอบสนองเกมส์คอมพิวเตอร์ ในรูปแบบ Robotic based therapy และ Virtual reality base therapy มาใช้ในการฟื้นฟู เพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถในการเคลื่อนไหวของรยางค์ส่วนบน ได้แก่ ส่วนของหัวไหล่ ข้อศอก ปลายแขน ข้อมือ และมือ ฝึกการควบคุมการเคลื่อนไหว (Motor control) ฝึกการวางแผนการเคลื่อนไหว (Motor planning) ฝึกออกแบบและเลือกรูปแบบการเคลื่อนไหวผ่านการเรียนรู้ (Motor learning & Visual feedback) เพิ่มสหสัมพันธ์การเคลื่อนไหว (Coordination) เพิ่มการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วน (Isolation movement) เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว (Range of motion) และเพิ่มความแข็งแรงของรยางค์ส่วนบน (Strength) สำหรับผู้ที่มีอาการอ่อนแรงของแขนและมือ จากโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บ ที่สมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ไขสันหลัง และโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของแขนและมือ


          ให้บริการให้คำปรึกษา แนะนำการฟื้นฟูด้านการกลืนแก่ผู้รับบริการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง (Counseling & Consultation) ให้ความรู้เบื้องต้นในการฟื้นฟูด้านการกลืนที่บ้าน (Swallowing home program) ให้บริการฟื้นฟูด้านการกลืน (Swallowing rehabilitation Training) โดยเป็นการฟื้นฟูด้วยวิธีมาตรฐานทางกิจกรรมบำบัดร่วมกับการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ในรูปแบบวิธีการใช้กระแสไฟฟ้า กระตุ้นกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืนให้เกิดการหดตัว ร่วมกับโปรแกรมการออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและช่วยให้กล้ามเนื้อเกิดการเรียนรู้ใหม่ (Neuromuscular electrical stimulator (NMES)) และให้บริการฝึกการกลืน โดยใช้อุปกรณ์ที่แปลสัณญาณทางสรีรวิทยาด้านการกลืนออกมาเป็นภาพและเสียง (Biofeedback) โดยเน้นให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้และปรับเปลี่ยนจังหวะความแข็งแรงในการกลืนได้ (Surface EMG biofeedback) ให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก ผู้ป่วยที่มีอาการสำลักอาหารและน้ำ ตลอดจนผู้สูงอายุ


          ให้บริการบำบัดฟื้นฟู ส่งเสริมทักษะความสามารถด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจ แก่ผู้ป่วย ให้สามารถนำทักษะด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองได้ตามบทบาท ด้วยการตรวจประเมินมาตรฐานโดยเครื่องมือประเมินการรับรู้และความรู้ความเข้าใจสำหรับคนไทย เพื่อประเมินทักษะด้านการรับรู้และความรู้ความเข้าใจ จำนวน 6 ทักษะ ได้แก่ ด้านการรับรู้ทางสายตา (visual perception) ด้านการรับรู้เกี่ยวกับร่างกาย (body scheme perception) ด้านการวางแผนการเคลื่อนไหว (praxis) ด้านความจำ (memory) ด้านการจับคู่และจัดหมวดหมู่วัตถุ (matching and categorization) และด้านการแก้ไขปัญหา (problem solving) ตลอดจนให้การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจโดยใช้กิจกรรม อุปกรณ์มาเป็นสื่อในการฟื้นฟู ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการรับรู้และความรู้ความเข้าใจ และผู้สูงอายุ


          ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการเคลื่อนไหวรยางค์ส่วนบน ส่งเสริมทักษะการช่วยเหลือตัวเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้วยการตรวจประเมินและฟื้นฟูสมรรถภาพโดยนักกิจกรรมบำบัด ร่วมกับการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างเต็มศักยภาพและใกล้เคียงปกติมากที่สุด รวมทั้งให้บริการอุปกรณ์เสริม ดัดแปลงและอุปกรณ์ดามแขนและมือ เพื่อส่งเสริมการทำงานของแขนและมือ ช่วยลดหรือแก้ไขความผิดปกติตลอดจนช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกระดูกและข้อต่อ ตลอดจนผู้สูงอายุ


          ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็ก โดยมุ่งเน้นการบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด และการกระตุ้นพัฒนาการ ผ่านการบูรณาการประสาทความรู้สึกในรูปแบบกิจกรรมการเล่นที่มีเป้าหมาย ซึ่งเป็นสื่อพื้นฐานที่สำคัญทางกิจกรรมบำบัดสำหรับเด็ก ให้บริการผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวเด็กสมองพิการ (Cerebral palsy) พัฒนาการล่าช้า (Delayed Development) เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (Learning Disabilities) เด็กออทิสติก (Autism spectrum disorder) เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ตลอดจนในกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด


          ให้บริการคัดกรองและประเมินพัฒนาการเด็กแบบครบวงจร ด้วยอุปกรณ์สื่อส่งเสริมพัฒนาการ (TEDA4I) ที่มีมาตรฐาน ประกอบด้วยทักษะ 5 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการเคลื่อนไหว (Gross Motor Skills) ทักษะด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา (Fine Motor Skills) ทักษะด้านความเข้าใจภาษา (Receptive Language) ทักษะด้านการใช้ภาษา (Expressive Language) และทักษะการช่วยเหลือตนเองและสังคม (Personal and Social) โดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด และนักแก้ไขการพูด


          ให้บริการเชิงรุกออกหน่วยบริการเคลื่อนที่และให้การเผยแพร่ความรู้ทางกิจกรรมบำบัดและการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่บุคลากรสาธารณสุข รวมถึงประชาชนทั่วไป




ตัวอย่างการพัฒนาด้านวิชาการ อาทิเช่น

          โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเด็กพิการ ในพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปางเขต 2 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เด็กพิการในเครือข่ายพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 2 ได้รับการตรวจประเมินและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์จากทีมสหวิชาชีพ และเพื่อให้ผู้ดูแล ผู้ปกครอง และครูในสถานศึกษา ได้รับแนวทางในการดูแลและส่งเสริมทักษะที่จำเป็นแก่เด็กในด้านพัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งนี้ได้ดำเนินงานแล้วเสร็จจำนวน 12 โรงเรียน 6 อำเภอในจังหวัดลำปาง ได้แก่ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอแม่ทะ และอำเภอสบปราบ

          โครงการเพื่อพัฒนารูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care) ในคนพิการและผู้สูงอายุ มีการจัดทำโครงการร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยและผู้สูงอายุระยะกลางที่มีอาการทางคลินิกผ่านพ้นภาวะวิกฤติและมีอาการคงที่ แต่ยังคงมีความผิดปกติของร่างกายบางส่วนอยู่และมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์โดยทีมสหวิชาชีพ (Multidisciplinary approach) อย่างต่อเนื่องจนครบ 6 เดือน ตั้งแต่ในโรงพยาบาลจนถึงชุมชน เพื่อเพิ่มสมรรถนะร่างกาย จิตใจ ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และลดความพิการหรือทุพพลภาพ รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุ

          โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การประเมินและฟื้นฟูเบื้องต้นในผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก ภายใต้โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายด้านการดูแลสุขภาพคนพิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข ให้มีความรู้และทักษะด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพในการดูแลสุขภาพ คนพิการ และสร้างเครือข่ายการดูแลคนพิการในเขตบริการสุขภาพในชุมชน กลุ่มเป้าหมายคือ นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด พยาบาลวิชาชีพ และบุคลากรสาธารณสุข ในเขตพื้นที่บริการสุขภาพที่ 1, 2 และ 3 เพื่อพัฒนาศักยภาพในการประเมินและฟื้นฟูด้านการกลืนเบื้องต้น ในผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก

          โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การดูแลเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ ภายใต้โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาเครือข่าย ด้านการดูแลสุขภาพคนพิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ดูแล ผู้ปกครอง และครูที่ดูแลเด็กพิการเรียนร่วม ให้มีความรู้และทักษะด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพในการดูแลสุขภาพคนพิการ และสร้างเครือข่ายการดูแลคนพิการในจังหวัดลำปาง

          โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายให้บริการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่มีมูลค่าสูงด้านอุปกรณ์สื่อส่งเสริมพัฒนาการ (การใช้ TEDA4I) ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้และทักษะการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่มีมูลค่าสูงด้านอุปกรณ์สื่อส่งเสริมพัฒนาการ (การใช้ TEDA4I) ในการประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ และสร้างเครือข่ายในการกระจายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่มีมูลค่าสูงด้านอุปกรณ์สื่อส่งเสริมพัฒนาการ (การใช้ TEDA4I) ในเขตพื้นที่บริการสุขภาพที่ 1, 2 และ 3

          โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การประยุกต์เทคนิคการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Technical application for Occupational Therapy in stroke patients) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของนักกิจกรรมบำบัดให้มีความรู้และเทคนิคในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และสร้างเครือข่ายด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกิจกรรมบำบัดในเขตพื้นที่บริการสุขภาพที่ 1, 2 และ 3





          1.1 พบแพทย์ที่งานบริการผู้ป่วยนอก และแพทย์สั่งการบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด

          1.2 นำเอกสารใบสั่งการรักษาฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดมาติดต่อ ที่อาคารกิจกรรมบำบัด ชั้น 1

          1.3 ลงทะเบียนและนัดหมายวัน – เวลารับบริการกับเจ้าหน้าที่

          1.4 รับบัตรนัดกิจกรรมบำบัด

          1.5 ผู้ป่วยเข้ารับบริการทางกิจกรรมบำบัด ตามวัน – เวลานัด


          2.1 แพทย์เจ้าของไข้ตรวจประเมิน และสั่งการบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด

           2.2 พยาบาล/เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยประสานงานกิจกรรมบำบัด เพื่อนัดหมายวัน – เวลารับบริการ

          2.3 ผู้ป่วยเข้ารับบริการทางกิจกรรมบำบัด ตามวัน – เวลานัด


1. ควรมาก่อนเวลานัด 15 – 30 นาที เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการบริการ

2. ผู้ดูแลควรอยู่กับผู้ป่วยทุกครั้งที่เข้ารับบริการ ทั้งนี้เพื่อเข้ารับโปรแกรมการฝึกต่อที่บ้านและเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

3. ผู้ดูแลควรเตรียมอุปกรณ์และของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นของผู้ป่วยมาด้วยทุกครั้ง เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เป็นต้น

4. หากผู้ป่วยมีอาการไอ เป็นไข้ น้ำมูก เจ็บคอ หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบทุกครั้ง

5. หากไม่สามารถเข้ารับบริการตามวันและเวลานัด กรุณาโทรศัพท์ติดต่อเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนทุกครั้ง






386 ม.3 ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง 52130
+66-5401-9662
+66-5401-9889
vejjarak.vjlh@gmail.com

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรมการแพทย์

สถาบันสิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)


บริการเพิ่มเติม

สำหรับเจ้าหน้าที่

คำชม / ข้อเสนอแนะ / ข้อร้องเรียน


ช่องทางการสื่อสาร

© 2562 โรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง